Saturday, 2 November 2024

เส้นทางบันเทิงอันโลดโผนใน ‘ยุค 90’ ของ ‘ทราย เจริญปุระ’ | มติชนสุดสัปดาห์

[ad_1]

ละครโทรทัศน์เรื่อง “ล่า” (2537) ถือเป็นแลนด์มาร์กในวงการบันเทิงของใครหลายคน เริ่มตั้งแต่ “สินจัย เปล่งพานิช” ที่พยายามเปลี่ยนผ่านจากการเป็น “นางเอกภาพยนตร์ยุคปลาย 80” มาสู่ “นางเอกละครโทรทัศน์ยุค 90” นานหลายปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จถึงขีดสุด กระทั่งมาได้รับการยอมรับอย่างถ้วนหน้าในบท “มธุสร”

“ล่า” ยังเป็นหมุดหมายสำคัญของ “สุพล วิเชียรฉาย” ผู้กำกับฯ ฝีมือดี และ “บริษัทเอ็กแซ็กท์” ในเครือแกรมมี่ (บริหารงานโดย “ถกลเกียรติ วีรวรรณ”) ที่มุ่งมั่นผลิตละครคุณภาพป้อนสถานีโทรทัศน์กองทัพช่อง 5 ในยุคนั้น โดยต่อเนื่อง

โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่สำคัญสุด ละครเรื่องดังกล่าวยังเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักแสดงหญิงหน้าใหม่วัยเพียง 13 ย่าง 14 ปี ชื่อ “ทราย เจริญปุระ” ซึ่งได้รับคำชมกว้างขวางว่า สามารถแสดงบทดราม่าหนักๆ ได้ดีเกินอายุ

แรกสุด การมีพื้นฐานครอบครัวเป็นบุคลากรในวงการบันเทิง โดยเฉพาะการมีพ่อชื่อ “รุจน์ รณภพ” ซึ่งเป็นทั้งผู้กำกับฯ และนักแสดงอาวุโสคนสำคัญ ทำให้ทรายถูกประเมินว่าเธอมีแต้มต่อและอภิสิทธิ์มากพอสมควร จึงสามารถแจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ในฐานะนักแสดง ทรายได้พิสูจน์ตัวเองกับผลงานชิ้นต่อๆ มา โดยอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญบนเส้นทางวิชาชีพสายนี้ของเธอ คือ การรับบทเป็น “ผีสตรีในตำนาน” ในภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” (2542) ของ “นนทรีย์ นิมิบุตร” ซึ่งพยายามตีความเรื่องเล่า “แม่นาคพระโขนง” ให้มีลักษณะ “สมจริง” และมีมิติทาง “ประวัติศาสตร์”

โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง

หนังไทยเรื่องนี้ทำรายได้ไปราวๆ 150 ล้านบาท (สร้างสถิติเป็นหนังไทยทำเงินสูงสุดของยุคนั้น) และมีรางวัลรับประกันคุณภาพจำนวนมาก ขณะที่ทรายเองก็ได้เครดิตเป็นนางเอกของ “หนังที่ได้ทั้งเงินและกล่อง”

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ทรายมีผลงานเพลงออกมารวม 3 อัลบั้ม

ผลงานชุดแรก คือ อัลบั้มแนวป๊อปวัยรุ่นชุด “นาฬิกาทราย” (2538) ซึ่งยังไม่ฉายแววโดดเด่นมากนัก ผิดกับผลงานสองชุดหลัง คือ “SINE” (2541) และ “D^SINE” (2542) ที่ทรายปรับบุคลิกตัวเองเป็น “สาวมั่น” และเปลี่ยนแนวดนตรีเป็น “เพลงร็อก” โดยมีนักร้อง-นักแต่งเพลง-นักดนตรีฝีมือดีอย่าง “แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” เป็นผู้ดูแลการผลิต

โฆษณา – อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผลงานเพลงในปี 2542 (ปีเดียวกับที่ “นางนาก” ออกฉาย) ทำให้ทรายมีเพลงฮิตประจำตัวที่ยังติดหูติดปากสาธารณชนมาจนถึงปัจจุบันอย่าง “สายลมที่หวังดี” และยังหนุนส่งให้เธอคว้ารางวัล “ศิลปินหญิงร็อกยอดเยี่ยม” บนเวทีสีสันอวอร์ดส์

น่าแปลกใจไม่น้อย ที่พอเข้าสู่ยุค 2000 ทรายก็ยุติเส้นทางการเป็นนักร้องลงอย่างสิ้นเชิงและเด็ดขาด

พ้นจากความสำเร็จข้างต้น ทรายถือเป็นคนบันเทิงที่แจ้งเกิดในยุค 90 ซึ่งผ่านประสบการณ์การทำงานอย่างหลากหลายจนน่าทึ่ง

หลังจากเคยเป็นนักแสดงและนักร้องในสังกัดแกรมมี่ เธอก็เคยแวะไปเป็นพิธีกรในรายการโทรทัศน์และเล่นภาพยนตร์ของอาร์เอส

หลังจากเคยเป็นนักแสดงในหนัง-ละครคุณภาพสูง หากประเมินด้วยสายตาและรสนิยมของผู้บริโภคชนชั้นกลาง ทรายก็เคยรับงานแสดงในละครทีวีสำหรับ “มหาชน” ของช่อง 7 อยู่หลายเรื่อง เช่น “ทอง 9” ของ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” และละครพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ของค่ายสามเศียร

แม้ในราวสองทศวรรษหลัง ทรายจะมีภาพลักษณ์เป็น “ดาราหัวก้าวหน้า-ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่อีกด้าน เธอก็เคยเล่นละคร-หนังอิงประวัติศาสตร์ที่มีจุดยืนชาตินิยมเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น “อตีตา” (2544) จากบทประพันธ์ของ “ทมยันตี” หรือ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (2550-2557) ของ “ท่านมุ้ย”

เมื่อสำรวจไปยังภาพกว้างของปริมณฑลทางด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่โต-ลึกซึ้งกว่างานในแวดวงบันเทิง ทรายยังมีสถานะเป็น “นักอ่าน” และ “คนเขียนหนังสือ” ดังที่เธอเคยเป็นเจ้าของคอลัมน์ “รักคนอ่าน” ในมติชนสุดสัปดาห์อยู่นานหลายปี

ถึงตอนนี้ ทรายก็ยังมีผลงานการแสดงอยู่เป็นระยะ ที่น่าสนใจคือ เธอได้ร่วมแสดงใน “ซีรีส์วาย” หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “คาธ” (2565) และ “องศาสูญ” ที่กำลังออกอากาศอยู่

“ทราย เจริญปุระ” จะมาเล่าประสบการณ์การทำงานในวงการบันเทิงอันโลดโผนของเธอ ในงาน “FEED RETRO Music oTalk o Food o Book o Trip #90sไม่นานมานี้”

ที่ลานสนามหญ้า มิวเซียมสยาม (MRT สนามไชย) วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายนนี้ เวลา 16.00-16.50 น. •

| คนมองหนัง

[ad_2]

Source link